ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม

ศิลปิน  ป.ฉลาดน้อย ส่งเสริม
ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ ) ปี 2548
ผลงานเพลง
  1. ลำล่องตามน้องทั่วอิสาน
  2. ลำยาว ชาติ ศาสน์ กษัตริย์
  3. อวยพรปีใหม่
  4. เต้ยเกี้ยวแรกพบ
  5. เต้ยพ่อกำนัน
  6. เต้ยโนนตาลเกี้ยวคู่
  7. เต้ยส่วยผสมลาว
ฯลฯ



เชิดชูครูเพลง
นายฉลาด ส่งเสริม เป็นหมอลำเรื่องต่อกลอน ที่มีความโดดเด่นเป็นที่รู้จักในด้านน้ำเสียงที่ก้องกังวาลแจ่มใส คำร้องมีการใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ เป็นแบบฉบับเฉพาะตัว ยากที่คนอื่นจะลอกเลียนแบบได้ โดยเฉพาะความสามารถแต่งกลอนลำทำนองเมืองอุบล จะนำเอาสิ่งแวดล้อม ธรรมชาติตามท้องถิ่น เช่น ดิน ลม ฟ้า อากาศ ต้นไม้ มาแต่งเป็นกลอนลำ กลอนลำแต่ละกลอนจะมีคติสอนใจผู้ฟังอยู่เสมอ ซึ่งถือว่าเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างแท้จริง และสามารถร้องหมอลำได้หลายประเภท ทั้งลำยาว ลำเพลิน ลำเรื่อง ลำต่อกลอน ผลงานเด่น ได้แก่ นางนกกระยางขาว ท้าวก่ำกาดำ พระเวสสันดรชาดก องคุลีมาลสำนึกบาป พุทธประวัติตอนสิทธัตถะกุมารออกบวช นางนกกระจอกน้อย ผาแดงนางไอ่ ลูกเขยไทยสะใภ้ลาว เพลงรักบุญบั้งไฟ เป็นต้น
ได้รับรางวัลทองคำฝังเพชร ในการประกวดหมอลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง "นางนกกระยางขาว" จากกรมประชาสัมพันธ์
ได้รับยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นสุดยอดศิลปินอีสาน ในวาระ 40 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น นายฉลาด ส่งเสริม จึงได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (หมอลำ) พุทธศักราช 2548

ประวัติชีวิตและผลงาน
นายฉลาด ส่งเสริม (ป. ฉลาดน้อย) ปัจจุบันอายุ 58 ปี เกิดเมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2490 ที่บ้านหนองบ่อ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี สมรสกับนางสมบูรณ์ ส่งเสริม มีบุตร 3 คน คือ นายอติชาติ ส่งเสริม นางสาววาสนา ส่งเสริม และเด็กหญิงจารุวรรณ ส่งเสริม

ประวัติการศึกษา
พ.ศ. 2500 จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ 4 โรงเรียนวิจิตรราษฎร์สามัคคี ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี และบิดาได้นำไปฝากพระครูเจียม วัดบูรพาพิสัย บ้านหนองบ่อ ตำบลหนองบ่อ อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อบวชเรียนพระธรรมวินัยบาลีไวยากร อักษรขอม และฝึกเทศน์เสียงตามบุญมหาชาติเกือบทุกหมู่บ้านในตำบลหนองบ่อ
พ.ศ. 2502 จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนสมเด็จ วัดสุปัฏนารามวรวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
พ.ศ. 2503 บิดาได้นำไปฝากเจ้าอาวาสวัดบูรพาพิสัย เพื่อเข้าเรียนนักธรรมโท
พ.ศ. 2504 ศึกษานักธรรมชั้นเอก และในขณะเดียวกันยังเทศน์เสียงในงานบุญมหาชาติในอำเภอเมืองอุบลราชธานีด้วยน้ำเสียงไพเราะ
พ.ศ. 2505 ขณะที่เป็นสามเณร ได้ฝึกร้องหมอลำตามเสียงทางวิทยุ ว.ป.ก. 6 ในแนวเสียงของหมอลำทองคำ เพ็งดี และหมอลำฉวีวรรณ ดำเนิน โดยเฉพาะลำล่องนิทานนางแตงอ่อน
พ.ศ. 2506 ลา สิกขาบทจากสามเณร บิดาได้พาไปฝากเป็นศิษย์อาจารย์สุวรรณ ติ่งทอง ให้ฝึกลำกลอน (ลำทางสั้น) และลำคู่ ฝึกได้ 4 เดือน ไม่เกิดความชำนาญ เพราะต้องท่องกลอนยาวซึ่งยาวมากจึงหยุดพักระยะหนึ่ง แล้วหันไปร้องหมอลำหมู่ที่บ้านหนองบ่อ กับคณะ ก.สำราญศิลป์ โดยมีอาจารย์กิ่ง ทิมา เป็นผู้ฝึกสอน

ประวัติการทำงาน
นายฉลาด ส่งเสริม เมื่อเยาว์วัยอยู่ในท้องถิ่นที่แวดล้อมด้วยธรรมชาติ ความงดงามของประเพณีและวัฒนธรรมของชาวชนบทควบคู่การละเล่นการแสดง ความบันเทิง ตามเทศกาลงานประเพณีต่างๆ โดยเฉพาะการเล่นหนังตะลุง (หนังบักตื้อ) ลิเกลาว (หมอลำหมู่ หมอลำกลอน) ชอบที่จะจดจำมาแสดงท่าทางเลียนแบบการร้อง การเต้น หนังตะลุง หมอลำหมู่ หมอลำกลอน ประกอบกับบิดาเคยบวชเป็นนักเทศน์เสียงดีมาก่อน จึงฝังใจอยากมีเสียงที่กังวานไพเราะ และเป็นนักเทศน์เสียงดีเจริญรอยตามบิดาผู้ให้กำเนิด
   ก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่การเป็นหมอลำกลอนผู้มีชื่อเสียงโด่งดังในแถบภาคอีสาน เจ้าตัวกล่าวว่า ชื่นชอบการร้องรำทำเพลงมาแต่เด็ก ทุกครั้งที่มีหมอลำมาเล่นในหมู่บ้านก็จะมี ด.ช.ฉลาด ส่งเสริม ไปเล่นไปนอน อยู่หน้าเวทีหมอลำเสมอ
    กระทั่งอายุประมาณ 16 ปี จึงขอฝากตัวและฝึกหมอลำกับ อ.ติ่งทอง และ อ.กิ่ง ทิมา ฝึกเรียนประมาณ 1 ปี จึงพอจะจับทิศทางของหมอลำได้ว่าตัวเองควรจะไปจุดไหน กระทั่งปี 2507 ได้เริ่มออกรับงานลำตามงานต่างๆ ในนามของ คณะ ส.สำนึกศิลป์ ซึ่งช่วงนั้นยังไม่มีชื่อเสียง จนเกิดความชำนาญ คนเริ่มขนานนามว่า ป.ฉลาดน้อย ซึ่งเสียงเหมือนกับ "ทองคำ เพ็งดี" หมอลำกลอนที่มีชื่อเสียงซึ่งลำคู่กับ "ฉวีวรรณ ดำเนิน" ในสมัยนั้น "พอการร้องลำชำนาญมากขึ้น ก็เข้าสู่ปีที่ 5 จึงร่วมกับเพื่อนๆ คิดหาทางออกไปตั้งวงของตัวเอง คือ คณะ "ป.ฉลาดน้อยรุ่งเรืองศิลป์" รับบทเป็นพระเอก

พ.ศ. 2514 ได้รับการติดต่อให้ไปร่วมแสดงเป็นพระเอกกับคณะอุบลพัฒนา โดยมีอังคนางค์ คุณไชย เป็นนางเอกบันทึกเสียงลำเป็นครั้งแรกเรื่อง นางประกายแก้ว นางนกกระยางขาว ท้าวก่ำกาดำ จนได้รับความนิยม เมื่อปี พ.ศ. 2518 ลาออกจากคณะอุบลพัฒนากลับภูมิลำเนาเดิมเพื่อดูแลบิดามารดา จากนั้นตั้งคณะหมอลำ ของตนเอง ชื่อ "คณะเพชรอุบล" รับแสดงหมอลำทั่วทุกภาคในประเทศไทย แสดงเป็นพระเอกหมอลำ มีนางเอกโฉมไสว แสนทวีสุข เป็นคู่ลำ มีชื่อเสียงและรุ่งเรืองที่สุด ดังมาก หลังจากนั้นจะเริ่มตกลงเรื่อยๆ เนื่องจากกระแสของหมอลำสมัยใหม่เริ่มเข้ามาแทนที่

พ.ศ. 2530 หันไปประกอบอาชีพวิ่งรถสองแถวเล็กในสหกรณ์รถยนต์บริการอุบล จำกัด ที่อำเภอเมืองอุบลราชานี จังหวัดอุบลราชธานี ใน พ.ศ. 2535 ได้รับคัดเลือกให้เป็นประธานกรรมการ สหกรณ์รถยนต์บริการอุบลราชธานี

พ.ศ. 2542 ได้รับเลือกให้เป็น ประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองอุบลราชธานี ดูแลงานวัฒนธรรม ส่งเสริมและผลักดันให้เยาวชนเกิดความรักและสนใจในวัฒนธรรม พ.ศ. 2544- 2545 ดำรงตำแหน่ง "ที่ปรึกษาสภาวัฒนธรรม" ดำเนินการสืบค้นวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาท้องถิ่น การละเล่น วรรณกรรม ของดีของเก่า ทุกตำบลในเขตอำเภอเมืองอุบลราชธานี ตามโครงการวัฒนธรรมสัญจรการสร้างสรรค์ผลงานเผยแพร่ต่อสาธารณชน

ป.ฉลาดน้อย ได้เข้าเป็นศิลปินร่วมรณรงค์ให้กับกระทรวงสาธารณสุข ทั้งเรื่องการรณรงค์ไม่กินปลาดิบ, ต้านโรคเอดส์, ไข้เลือดออก, ฉี่หนู และอื่นๆ รวมไปถึงการเป็นอาจารย์สอนพิเศษเกี่ยวกับวัฒนธรรมพื้นบ้าน ว่าด้วยการแสดงหมอลำที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี และยังเป็นประธานสภาวัฒนธรรม จ.อุบลราชธานี

ผลงานการแสดง
นายฉลาด ส่งเสริม มีผลงานทั้งทางสถานีวิทยุ โทรทัศน์ สื่อสารมวลชนแขนงต่างๆ เป็นผู้รับงานแสดง จัดการแสดง รวมทั้งร่วมงานกุศลต่างๆ นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา 40 ปี ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ เริ่ม ประกอบอาชีพหมอลำ ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายจากประชาชนทั่วทุกภาคทั้งในประเทศและต่างประเทศ


พ.ศ. 2518 บันทึกเทปออกอากาศ เรื่อง "สายแนนนาแก่น" ได้รับความนิยมจากประชาชน โดยทั่วไป

พ.ศ. 2519 ผลิตผลงานลำเรื่องต่อกลอนให้บริษัทสินราชบุตร เรื่อง "ยากให้เพิ่นตายโตตาย" (สีโคตรพระตะบอง) "ท้าวบัวโฮมบัวฮอง" (ขุนช้างขุนแผน) "พระเวสสันดร" (ท้าวกำพร้าปลาหลด) เป็นต้น

พ.ศ. 2520 ผลิตผลงานบันทึกแผ่นเสียงให้กับบริษัทเสียงสยาม ห้างแผ่นเสียงทองคำ กรุงเท พฯ เรื่อง "ผาแดงนางไอ่ " "ไนกกระจอกน้อย" (ก่องข้าวน้อยฆ่าแม่) เป็นต้น

พ.ศ. 2521  บันทึกแผ่นเสียงให้กับอาจารย์ทิศใส อาจารย์ดอย อินทรนนท์ นักแต่งเพลงชื่อดังในสุดสะแนน ชุดลำยาว (หรือลำล่อง) เตือนสาวภาค ๑ เตือนสาวภาค ๒ ลำยาวตามน้องทั่วอีสาน ลำยาว อวยพรปีใหม่ ลำยาวหมอลำน้ำมันแพง
คณะเพชรอุบล แสดงผลงานกลอนลำออกอากาศตามสถานีวิทยุต่างๆ เช่น ว.ป.ก. 6 อุบลราชธานี จ.ส. 4 ยโสธร จ.ส. 6 ศรีสะเกษ ในแถบภาคอีสาน เป็นที่ชื่นชอบของประชาชนในเนื้อหาสาระที่แฝงไปด้วยคติธรรม ทำให้มีงานต่อเนื่องตลอดปี

พ.ศ. 2525 อังคนางค์ คุณไชย ออกจากคณะอุบลพัฒนา มาอยู่คณะเพชรอุบล จึงเปลี่ยนชื่อเป็นคณะ ป.ฉลาดน้อย อังคนางค์ คุณไชย ได้ผลิตผลงานบันทึกเสียงร่วมกัน เช่น เต้ยเกี้ยวแรกพบ เต้ยคำสาบาน เต้ยรักน้องเต็มทน เต้ยฮักน้องอีหลี ทำให้ได้รับความนิยมจากประชาชนทั่วประเทศ

พ.ศ. 2526 อังคนางค์ คุณไชย แยกตัวออกไปตั้งวงใหม่ ป. ฉลาดน้อย จึงกลับมาบริหารคณะเพชรอุบล อีกครั้ง

พ.ศ. 2532 คณะเพชรอุบลโดย ป.ฉลาดน้อย สร้างผลงานบันทึกแผ่นเสียงหมอลำเพลินอีกครั้ง ในชุด สาวรอบสอง สาวโมมลึด วอนแฟนๆ และชุดเอาน้องคักๆ

พ.ศ. 2533 ป. ฉลาดน้อย นำคณะกำแพงเพชร เข้าประกวดหมอลำเรื่องต่อกลอน ณ สถานีวิทยุกระจายเสียงมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ จังหวัดมหาสารคาม ได้รับโล่รางวัลจากสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

พ.ศ. 2535 ป. ฉลาดน้อย ผลิตผลงานลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง คู่กรรม โดยนำมาจากนวนิยายที่แสดงทางโทรทัศน์

พ.ศ. 2540 ดำเนินการผลิตเทปร่วมกับยอดขุนพลลำเพลิน ทองมี มาลัย และขุนพลลำซิ่ง ประสาน เวียงสิมา ในชุดลำเพลิน ชมรมแท็กซี่ ลำซิ่ง ตระกูลเมาลำเพลินเจ้าพ่อสี่ไห

พ.ศ. 2543  เดินทางไปเผยแพร่วัฒนธรรมท้องถิ่นที่ รัฐอะกาโกม่า ฟอร์ดสมิท แคลิฟอร์เนีย ลอสแองเจลีส ประเทศสหรัฐอเมริกา รัฐอะแลตร้า ประเทศจอร์เจีย
ผลิตเทปประชาสัมพันธ์รณรงค์ประชาธิปไตย ในการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และสมาชิกวุฒิสภา
ผลิตวีซีดี ลำเรื่องต่อกลอนชุด นางนกกระยางขาว ซึ่งได้แพร่ภาพทางสถานีโทรทัศน์ ช่อง 11 ทุกวันพุธ วันพฤหัสบดี วันศุกร์ เป็นการฟื้นฟูมรดกวัฒนธรรมอีสาน

พ.ศ. 2544 ผลิตผลงานลำยาว (ลำล่อง) ชุดลำยาวน้ำตาพ่อฮ้าง ตามน้องทั่วอีสาน ลำยาวตามน้องทั่วกรุงเทพฯ อวยพรปีใหม่ อีกทั้งต่อกลอนลำในการถ่ายทอดมิวสิควีดีโอเรื่อง ท้าวก่ำกาดำ

พ.ศ. 2545  ร่วมแสดงหมอลำเรื่องต่อกลอน ในงาน " กินข้าวแลง แงงบัวบาน สืบสานวัฒนธรรม" เพื่อจัดหาทุนเข้าสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองอุบลราชธานี
แสดงในงานทอดกฐินสามัคคี และลอยกระทง ณ วัดพุทธาราม นครเบอร์ลิน สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน

พ.ศ. 2546
ผลิตผลงานลำเรื่องต่อกลอนชุด พระเวสสันดรชาดก องคุลีมาล สิทธัตถะกุมาร เผยแพร่ในรูปแบบวีซีดี เพื่อให้ประชาชนยึดมั่นในธรรมะ มีคุณธรรม และจริยธรรม
ร่วมแสดงหมอลำในนาฏกรรมประกอบแสงเสียง เรื่อง " เจ้าคำผงผู้สร้างเมืองอุบลราชธานี" ณ โรงละครสถาบันวิจัยศิลปะอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

พ.ศ. 2547 ผลิตผลงานลำเรื่องต่อกลอนชุด ปลาบู่ทอง นางนกกระจอกน้อย ผาแดงนางไอ่ เผยแพร่ในรูปแบบของวีซีดี เพื่อสื่อให้เห็นถึงคุณค่าของวรรณกรรมพื้นบ้าน

พ.ศ. 2548
ผลิตผลงานลำเรื่องต่อกลอนชุด "ดาวลูกไก่" เผยแพร่ในรูปแบบของวีซีดี เพื่อสื่อให้เห็นถึงคุณค่าของวรรณกรรมพื้นบ้าน สอนให้ทุกคนเสียสละและกตัญญูต่อบุพการี
ผลิตผลงานสุดยอดลำเพลิน ชุด "เป็นสาวรอบสอง" เผยแพร่ในรูปของวีซีดี และเทปคลาสเซ็ท เพื่อสร้างขวัญกำลังใจและลดปัญหาสังคม อันเป็นผลให้เยาวชนหันเข้าหายาเสพติด
ผลิตผลงานภาพยนตร์ ชุด "เพลงรักบุญบั้งไฟ" เผยแพร่ในรูปแบบของวีซีดี เพื่อสืบสานบุญประเพณีตามฮีต ๑๒ คลอง ๑๔ ให้ยืนยาว และผู้มั่นในจิตวิญญาณของคนอีสาน


ผลงานวิชาการ
เป็นผู้วางแนวคิดในการแต่งกลอนลำประกอบการแสดงลำเรื่องต่อกลอนทุกเรื่องที่แสดง
เป็นผู้คิดค้นทำนองลำ "ทำนองเมืองอุบล" ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของจังหวัดอุบลราชธานี โดยเฉพาะสำนวนการ้องที่นำเอาธรรมชาติสิ่งแวดล้อมมาเป็นเนื้อหาประกอบ เช่น การบรรยายถึงลักษณะภูมิอากาศ ฟ้า ลม ฝน น้ำ ซึ่งนักแสดงทั้งหลายโดยเฉพาะนักแสดงตลกชอบนำคำร้องและทำนองลำเมืองอุบลไปล้อเลียน จากทำนองกลอนลำคิดค้นนี้ประชาชนชื่นชอบจนพากันเรียกว่า "ทำนอง ป.ฉลาดน้อย"
เขียนกลอนลำ ลำเรื่องต่อกลอน เช่น อยากให้เพิ่นตาย โตตาย (สีโคตรพระตะบอง) ท้าวบัง โฮมบังฮอง (ขุนช้างขุนแผน) พระเวสสันดร (ท้าวกำพร้าปลาหลด) สุทนมโนราห์ ขูลูนางอั้ว จำปาสี่ต้น น้ำตาสาวลาว ผู้บ่าวไทย นางนกกระยางขาว น้ำตาสาวจีน
แต่งกลอนลำส่งเสริมรณรงค์การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา
ฝึกสอนหมอลำให้กับหมอลำรุ่นหลัง จนมีลูกศิษย์หมอลำที่มีชื่อเสียงมากมาย เช่น ป.ประยุทธ วิไลศรี คณะขวัญอุบล ป.ประหยัด นามศรี คณะศรีอุบล นิคมน้อย อุทะศรี คณะเพชรอุบล สำเภา ภู่ใหญ่ คณะก้องอุบล ขวัญฟ้า ดุลประยูร คณะอุดรมิตรนิยม เป็นต้น
ประดิษฐ์ท่ารำ และบทร้องชุด นางนกกระยางขาว ท้าวก่ำกาดำ น้ำตาสาวจีน โดยเฉพาะ ท่ารำนางนกกระยางขาวยังคงใช้เป็นท่าแม่แบบในการแสดง ซึ่งมีลักษณะเฉพาะคือ "กางเขนเหมือนนกถลาบิน ซอยเท้าถี่รุกเร้า สนุกสนาน"


รางวัลและเกียรติคุณที่ได้รับ
พ.ศ. 2515 ได้รับโล่รางวัลทองคำฝังเพชร ในการประกวดหมอลำเรื่องต่อกลอน เรื่อง "นางนกกระยางขาว" ของกรมประชาสัมพันธ์ ณ สถานีโทรทัศน์ ช่อง 4 จังหวัดขอนแก่น
พ.ศ. 2533 ได้รับโล่รางวัล ตัวประกอบฝ่ายชายยอดเยี่ยม ในการประกวดหมอลำเรื่องต่อกลอน จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ
พ.ศ. 2534 ได้รับเกียรติบัตร จากกระทรวงสาธารณสุข ในนามสื่อมวลชนและศิลปินท้องถิ่นส่งเสริมโครงการรณรงค์อีสานไม่กินปลาดิบ 17 จังหวัด ในภาคอีสาน และเกียรติบัตรจากจังหวัดอุบลราชธานี ในนามศิลปินผู้สนับสนุนการผลิตเทปเพลงหมอลำอุบลราชธานี 200 ปี
พ.ศ. 2538 ได้รับเกียรติบัตรจากจังหวัดศรีสะเกษ เป็นผู้สนับสนุนโครงการคาราวานอีสานไม่กินปลาดิบ
พ.ศ. 2542 ได้รับเกียรติบัตรกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในงานศิลปกรรมนักเรียน การประกวดแข่งขันวิชาการ วิชาชีพเฉลิมพระเกียรติ เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ
พ.ศ. 2544 ได้รับโล่เชิดชูเกียรติคุณ เป็นศิลปินดีเด่นของจังหวัดอุบลราชธานี สาขา ศิลปะการแสดง ประจำปี 2544
พ.ศ. 2545 ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณยอดฝีมือหมอลำ ที่คงคุณภาพ ผลงาน และสามารถแก้จน ประสบความสำเร็จ จาก รายการ เกมแก้จน ทางสถานีโทรทัศน์กองทัพบท ช่อง 5
พ.ศ. 2547 ได้รับ
เชิดชูเกียรติสุดยอดศิลปินพื้นบ้านอีสาน ประเภทลำเรื่องต่อกลอน ในโอกาส ฉลอง 40 ปี มหาวิทยาลัยขอนแก่น
โล่เชิดชูเกียรติผู้สร้างสรรค์ผลงานดีเด่นในด้านศิลปวัฒนธรรม สาขาศิลปะการแสดง ของสถาบันวิจัยศิลปวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
โล่ประกาศเกียรติคุณผู้ส่งเสริมอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย จากหนังสือพิมพ์สื่อสารธุรกิจ
เข็มเชิดชูเกียรติ ของมูลนิธิอัฏฐมราชานุสรณ์ในพระบรมราชูปถัมภ์ จากสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช สยามบรมราชกุมาร
การทำคุณประโยชน์เพื่อสังคม
นายฉลาด ส่งเสริม ได้ทำคุณประโยชน์เพื่อสังคมด้วยการช่วยเหลือหน่วยราชการและองค์กรเอกชนในด้านต่าง ๆ ดังนี้

บันทึกเสียงลำยาวในม้วนเทปประชาสัมพันธ์โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ จำนวน 3 กลอน ได้แก่ ประวัติโรงเรียน ถวายพระพรในหลวง เทิดพระเกียรติ
เป็นกรรมการจัดงานสืบสานมรดกอีสาน งานบุญออกพรรรษา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
เป็นกรรมการสภาวัฒนธรรมอีสานเพื่อสืบสานวัฒนธรรม ประเพณี ภูมิปัญญาของดีของเก่าในท้องถิ่นตามโครงการวัฒนธรรมสัญจรของสภาวัฒนธรรมอำเภอเมืองอุบลราชธานี
เป็นผู้ปรับปรุงทำนองเพลงของดนตรีให้กับเนื้อร้องขบวนรำแห่เทียนพรรษา ประจำปี 2544 ของโรงเรียนเบญจมะมหาราช
เป็นวิทยากรฝึกซ้อมพื้นบ้านหมอลำเพื่อร่วมแสดงในขบวนแห่เทียนออกพรรษา ของโรงเรียนศรีปทุมวิทยาคาร อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
เป็นศิลปินรับเชิญแสดงหมอลำในงานนิทรรศการศิลปะเด็กร่วมสมัยไร้พรมแดน ของชมรมศิลปะกับชีวิตอุบล พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดอุบลราชธานี
เป็นวิทยากรให้ความรู้เรื่องภูมิปัญญาไทยภาคอีสาน ในรายวิชาศิลปะ 410 ให้กับนักเรียนโรงเรียนเบญจมะมหาราช อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี
เป็นอาจารย์พิเศษสอนวิชานาฏศิลป์พื้นเมือง/ดนตรีเพื่อการละครเพลง และการขับร้องให้กับนักศึกษาโปรแกรมวิชานาฏศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
เป็นวิทยากรและศิลปินรับเชิญแสดงหมอลำในงาน "วันหมอแคนคืนลำ" ของ สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี
เป็นกรรมการในการแลกเปลี่ยนการเรียนรู้โดยการนำเอาวัฒนธรรมและอัตลักษณ์มาเป็นกระบวนการ ในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพและไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทของสถาบันวิจัยศิลปวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ร่วมกับสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดอุบลราชธานี
เป็นศิลปินรับเชิญร่วมแสดงนาฏกรรมประกอบแสงเสียง เรื่อง "คำผงผู้ก่อตั้งเมืองอุบลราชธานี" ของสถาบันศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี
เป็นวิทยากรงานวันภาษาไทยแห่งชาติ "สืบสานภูมิปัญญาไทยใส่ใจวรรณกรรมท้องถิ่น ชื่นชมศิลปินพื้นบ้าน" ของโรงเรียนคำเขื่อนแก้วชนูปถัมภ์ อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร
ร่วมแสดงลำยาวจรรโลงพุทธศาสนาในเทศกาล "งานนมัสการพระธาตุอานนท์" ประจำปี 2548 ณ วัดมหาธาตุ (พระอารามหลวง) ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร
เป็นศิลปินรับเชิญร่วมแสดงเรื่อง "พระเวสสันดรชาดก" เนื่องในงานประเพณีบุญผะเหวด จังหวัดร้อยเอ็ด ประจำปี 2548
"สำหรับการได้รับการคัดเลือกเป็นศิลปินแห่งชาติครั้งนี้ ผมเองยอมรับว่า ทั้งชีวิตผมใฝ่ฝันที่จะได้รับรางวัลนี้มาอย่างยาวนาน เพราะนานมาแล้วที่มีหมอลำเมืองอุบล 2 ท่าน ที่ได้รับรางวัลนี้ไปแล้ว จากนั้นก็ทิ้งช่วงไปเกือบ 10 ปี ถึงมาได้ผมเป็นคนล่าสุด ซึ่งผมถือว่าผมภูมิใจ และเป็นรางวัลที่ผมและครอบครัวรู้สึกภาคภูมิ ผมจึงตั้งใจเอาไว้ว่าจะทุ่มเทชีวิตให้กับแผ่นดินนี้ ทั้งกำลังกาย กำลังใจ เพื่อที่จะสืบสานอนุรักษ์วัฒนธรรมหมอลำพื้นบ้านให้ยั่งยืน" ศิลปินแห่งชาติกล่าวทิ้งท้าย...

ปัจจุบัน นายฉลาด ส่งเสริม ใช้ชีวิตเรียบง่ายกับครอบครัว ยังสร้างผลงานทั้งทางด้านการแต่งกลอนลำ การแสดงหมอลำ เพื่ออนุรักษ์และสืบสานวัฒนธรรมท้องถิ่นอยู่อย่างต่อเนื่อง บำเพ็ญประโยชน์แก่สาธารณกุศลโดยอาศัยพรสวรรค์พิเศษของตน ผสมผสานกับภาระหน้าที่ของสังคมก่อเกิดเป็นงานศิลปะเพื่อชุมชน ตำบลในเมือง อำเภอเมืองอุบลราชธานี จังหวัดอุบลราชธานี

ขอบคุณที่มา: http://www.isangate.com